เชื่อว่ามนุษย์เงินเดือนหลายคนคงเคยเจอปัญหาเงินไม่พอใช้ถึงสิ้นเดือน หรือมีเงินใช้
แบบเดือนชนเดือน ลำบากเหลือเกิน ไม่มีเงินเก็บเลย เงินที่ได้มามันก็ไม่น้อยนะ แต่พอเลยต้นเดือนมาแล้ว
เงินหายไปไหนหมดก็ไม่รู้ ถ้าคุณกำลังเจอปัญหาแบบนี้ คุณอาจกำลังเป็นคนที่ “ใช้เงินเกินตัว” อยู่ก็ได้
เป็นแบบนี้ ต่อไปไม่ดีแน่ เพราะอาจต้องไปกู้หนี้ยืมสิน ทำให้ลำบากในอนาคตมากขึ้นไปอีก
คนที่เหนื่อยก็ไม่ใช่ ใครที่ไหน แต่เป็นตัวคุณเองก่อนที่จะใช้เงินเกินตัวไปมากกว่านี้ มาหาวิธีการแก้นิสัยใช้เงินเกินตัวกันดีกว่า
1 : ตั้งสติก่อนจ่าย
เวลาที่คนเรามีเงินเยอะ ๆ อยู่ในครอบครอง ก็ไม่แปลกที่เราจะอยากใช้เพื่อตอบสนองความต้องการของตัวเองบ้าง
แต่เงินที่ว่าเยอะก็มีวันหมดไปได้ ถ้าใช้อย่างไม่ยับยั้งชั่งใจ ดังนั้น ก่อนที่จะควักเงินจ่ายไปกับอะไรสักอย่าง
อยากให้ตั้งสติให้ดีเสียก่อนว่า เราอยากได้ของสิ่งนี้จริง ๆ หรือเปล่า และมันจำเป็นต้องซื้อ ในตอนนี้เลยไหม
ลองใช้เวลาในการชั่งใจสักนิด ก่อนหยิบเงินออกมาจ่ายในช่วงที่เศรษฐกิจไม่ค่อยดีอย่างตอนนี้ เราควรเก็บเงินเอาไว้บ้าง
เพราะหากเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉิน หรือมีเหตุจำเป็นให้ต้องใช้เงินขึ้นมา เราจะได้มีเงินสำรองเอาไว้ใช้จ่ายในอนาคตค่ะ
2 : เลือกคบเพื่อนที่ไม่พากันไปเสียเงิน
การเลือกคบเพื่อนก็มีอิทธิพลต่อการใช้เงินอยู่เหมือนกัน ยิ่งขาช็อปแล้วด้วย ก็คงจะพากันซื้อของช็อปกันสนุกสนานเลย
ไม่มีใครห้ามใคร เผลออีกทีก็เงินหมดทั้งคู่แล้ว จริงๆ ข้อนี้ ไม่ใช่ทุกคนที่คบเพื่อนสายช็อปแล้วจะเกิดเหตุการณ์แบบนี้
ถ้าเรามีสติในการใช้เงินซะอย่าง เพื่อนช็อปเราก็เตือนเพื่อน เราช็อปเพื่อนก็เตือนเรา ผลัดกันเตือนสติน่าจะเป็นอะไรที่ดีที่สุด
3 : เลิกใช้ชีวิตฟุ้งเฟ้อหรูหรา
จริง ๆ แล้ว หากคุณคุ้นเคยกับการใช้ชีวิตแบบสะดวกสบาย หรือชีวิตแบบสโลว์ไลฟ์ ซื้อแต่ของราคาแพง
มันก็ไม่ได้ผิดอะไร ถ้าคุณมีเงินมากพอ แต่ถ้าการใช้ชีวิตแบบนั้น มันทำให้เราเสียเงินที่มีอยู่น้อยนิดไปโดยใช่เหตุ
ก็ควรเพลาๆ ลงบ้างแล้วลองพิจารณาดูว่า ถ้าเราลดค่าใช้จ่ายตรงนี้ลงได้เราก็จะมีเงินเพิ่มขึ้นนะ อาจจะไม่สะดวกสบาย
เหมือนเมื่อก่อน แต่ก็ไม่ต้องลำบากในอนาคต
4 : ใช้เงินสดซื้อของ
บัตรเดบิตไม่เท่าไหร่ แต่บัตรเครดิตนี่สิ ง่ายในการจับจ่ายใช้สอย ทำให้เผลอลืมตัวว่าใช้เงินไปมากแค่ไหนแล้ว
จริงอยู่ที่การใช้บัตรเครดิตสะดวกตรงที่ไม่ต้องพกเงินสดเยอะ ๆ หนัก ๆ เอาไว้ในกระเป๋า แต่การพกเงินสด
ก็ดีตรงที่เราจะรู้ว่า ใช้เงินไปเท่าไหร่ และเราเหลือเงินที่สามารถใช้ได้อีกเท่าไร พูดง่าย ๆ ก็คือ
เราจะสามารถจัดระเบียบการใช้เงินได้ง่ายกว่านั่นเอง
5 : ปรับเปลี่ยนนิสัยการใช้เงิน
พูดน่ะมันง่าย แต่ทำมันยากเหลือเกิน แต่ก็ต้องพยายามนะคะ ให้นึกไว้เสมอว่า หากเราไม่ยับยั้งชั่งใจ
ที่จะใช้เงินตั้งแต่ตอนนี้ ก็อาจทำให้เราต้องเหนื่อยในอนาคตข้างหน้า
ดังนั้น คุณควรฝึกจิตใจ ให้แข็งแกร่ง และตระหนักถึงความจำเป็น ก่อนที่จะควักกระเป๋าจ่ายเงินให้กับสิ่งใดสิ่งหนึ่ง
6 : วางแผนการเงินให้ชัดเจน
หากคุณไม่มีความหนักแน่น หรือไม่มีเป้าหมายทางการเงิน ทั้งแบบระยะสั้น ระยะยาว จะทำให้คุณสูญเสียประสิทธิภาพ
ในการจัดลำดับความสำคัญทางการเงิน ว่าเรื่องใดที่สำคัญมาก เรื่องใดสำคัญน้อย สุดท้ายแล้วก็จะพ่ายแพ้ต่อกิเลส
และใช้เงินไปจนหมด ทางที่ดีก็คือ ต้องวางแผนการใช้เงินในแต่ละเดือนว่า จะใช้จ่ายไปกับอะไร เป็นจำนวนเท่าไร
เดือนนี้จะเก็บเงินเท่าไร หรือวางแผน จะซื้อของสักชิ้น ต้องเก็บเงินนานแค่ไหนและทำตามเป้าหมายนั้นให้ได้
หากคุณไม่สันทัดเรื่องการวางแผน ก็ลองปรึกษาคนใกล้ตัวที่เก่งเรื่องบริหารเงินดูนะคะ